Friday, December 14, 2007

รำมโนรา


อุปกรณ์และวิธีเล่น
การแสดงโนรา เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร่ายรำ บทร้องประกอบดนตรี บทเจรจา และบางทีก็มีการแสดงเรื่องด้วย เครื่องดนตรีของโนราคล้ายกับเครื่องดนตรีของหนังตะลุง คือมี ทับ กลอง ปี่ โหม่ง ฉิ่ง และแตระ เครื่องดนตรีเหล่านี้จะใช้ประกอบจังหวะและเสียงร้องให้เข้ากันกับการรำ
การแสดงจะเริ่มด้วยการโหมโรงและกาศครู ก่อนตัวแสดงจะออกมาร่ายรำหน้าเวที มีการกล่าวบทหน้าม่านที่เรียกว่า "กำพรัดหน้าม่าน" โดยใช้ลีลากลอนหนังตะลุง ต่อจากนั้นตัวแสดงแต่ละตัวจะออกมาร่ายรำ เสร็จแล้วเข้าไปนั่งที่พนักซึ่งแต่เดิมทำด้วยไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันใช้เก้าอี้แทน ว่าบทร่ายแตระแล้วทำบท "สีโต ผันหน้า" โดยร้องบทและตีท่าตามบทนั้น ๆ หลังจากรำบทร่ายแตระเสร็จแล้ว ก็จะว่ากลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด กล่าวกับผู้ชาย หรือว่าเรื่องอื่น ๆ โดยมีลูกคู่รับ แต่หากเป็นการแข่งโนราประชันโรง ก็จะมีวิธีการซับซ้อนกว่านี้

โอกาสที่เล่น
โดยทั่วไปมักจะแสดงในงานเทศกาลนักขัตฤกษ์ งานมงคลทั่วไป หรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ บางโอกาสก็แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรมเพื่อแก้บนหรือ "แก้เหฺมฺรย" ในพิธีโรงครูของครอบครัวที่มีเชื้อสายตายายโนรา

คุณค่า
โนราเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ซึ่งมีมาแต่โบราณ และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นิยมเล่นกันมากทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุงนิยมเล่นโนราไม่แพ้หนังตะลุงบรมครูโนราที่ชาวภาคใต้และชาวพัทลุงยกย่อง และรู้จักเป็นอย่างดี คือ ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่มเทวา) ก็เป็นชาวอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
ปัจจุบันแม้ว่าโนราไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างในอดีต แต่โนราก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่กลุ่มชนพื้นบ้านได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อสนองความต้องการของชีวิตและสังคม โนราจึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาช้านาน ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและความเป็นไปของสังคมไว้เกือบทุกแง่ทุกมุม เพราะนอกจากโนราจะมีบทบาทในฐานะที่เป็นสื่อบันเทิงแล้ว ยังมีบทบาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านอีกด้วย ฉะนั้นวิถีชีวิตของชาวบ้านจึงมีความเกี่ยวข้องกับโนราอย่างแยกไม่ออก

No comments: